ศรชล.ภาค 3 และ ทร. ฝึกร่วมเข้มข้น HA/DR เกาะราชาใหญ่ ถอดสถานการณ์ รล.สุโขทัย เพิ่มขีดความสามารถทีมเรือกู้ภัยทางทะเล

ระหว่างวันที่ 4 – 6 ม.ค.66 พล.ร.ท.อาภากร อยู่คงแก้ว ผอ.ศรชล.ภาค 3/ผบ.ทรภ.3/ผบ.ศบภ.ทรภ.3 เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistant & Disaster Reliet : HA/DR) โดย พล.ร.ต.สุชาติ เปรมประเสริฐ รอง ผอ.ศรชล.ภาค 3 พร้อมด้วย พล.ร.ต.ยุทธกิจ วงศ์จันทร์ ผอ.สน.ฝอ.ศรชล.ภาค 3 นำกำลังพล ศรชล.ภาค 3 เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณพื้นที่เรือหลวงอ่างทอง ท่าเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต

การฝึก HA/DR ครั้งนี้ เป็นการฝึกในลักษณะของการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กำลังของ ทร. กำลังของ ศรชล.ภาค 3 กำลังจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ภูเก็ต และมูลนิธิกุศลธรรม จ.ภูเก็ต พร้อมบูรณาการร่วมกำลังจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทำการฝึกการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลของหน่วยเรือ (Sea SAR) ในวันที่ 6 ม.ค.66 บริเวณหน้าอ่าวปะตก ทางทิศตะวันตกของเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต

วัตถุประสงค์หลักเพื่อทดสอบขีดความสามารถในการอำนวยการ/บัญชาการเหตุการณ์ของ ศปก.ศรชล.ภาค 3 ยกระดับขีดความสามารถของระบบติดตามสถานการณ์การติดต่อสื่อสารของ ศปก.ศรชล.ภาค 3 และกำลังทางเรือที่เข้าร่วมปฏิบัติการ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการประสานการปฏิบัติระหว่าง ศรชล.ภาค 3 กับ ทร. และหน่วยงานอื่นๆ ในการปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติ โดย ศรชล.ภาค 3 สนับสนุนสรรพกำลังร่วมการฝึก ประกอบกำลังด้วย
เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือเจ้าท่า 1301 เรือศุลกากร 367 เรือตรวจประมงทะเล 1002 เรือตำรวจน้ำ 523 เรือ ทช.217 พร้อมเฮลิคอปเตอร์ แบบ S-76 รับผิดชอบการฝึกในส่วนของการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

ทั้งนี้ ทร. ยังคงดำเนินการค้นหาผู้สูญหายจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระแสความสูญเสียกำลังพล ทร. ส่งผลกระทบให้สังคมจับตาการปฏิบัติงานของ ทร. ซึ่งการฝึกร่วม ทร. – ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกำลังพลการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความจำเป็นต้อง “ถอดบทเรียน” ทั้งจากเหตุการณ์จริงและการฝึกร่วมที่เข้มข้นเพื่อการป้องกันแก้ไขสถานการณ์อย่างครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ 1.การฝึกซ้อมการกู้ภัย การเผชิญเหตุในสถานการณ์อากาศแปรปรวน เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง การประเมินการอพยพระหว่างเกิดเหตุ ต้องมีกลไกการประสานงานที่ชัดเจนและทันสถานการณ์ 2.มีการประเมินประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องของเรือ เครื่องยนต์ การสูบน้ำ เสื้อชูชีพ เรือยาง ฯลฯ และ 3.การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับการฝึกซ้อมเพิ่มประสิทธิภาพ Sea SAR ที่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง