ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึก 'ปฏิบัติการร่วม ศรชล.' ประจำปี 66 ค้นหาช่วยชีวิต-ขจัดคราบน้ำมันในทะเล

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2566 การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (SAR) และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล (Oil spill) ระหว่างวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2566 โดยพลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. พลเรือโท ประวิณ จิตตินันทน์ รองเลขาธิการ ศรชล. พลเรือโท จรัสเกียรติไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2/ผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค 2 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ใน ศรชล. ประกอบด้วยกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมชมการฝึก ณ ลานวัฒนธรรม หาดชลาทัศน์ และพื้นที่ทางทะเลจังหวัดสงขลา

เวลา 09.10 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา ศรชล. รับชมจากฝึกสาธิต “การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (SAR) และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล (Oil spill)”

เวลา 09.40 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. พร้อมคณะ เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานในพื้นที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ฯลฯ

การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2566 เป็นการฝึกร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ใน ศรชล. และหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยบูรณาการการฝึกร่วมกับการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 และจะผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติประจำปี 2566 (C-MEX 23) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยใช้กำลังหลักของ ศรชล.ภาค 2 ดำเนินการฝึกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการบัญชาการเหตุการณ์/การอำนวยการตามสถานการณ์ ระบบติดตามสถานการณ์ การสื่อสาร การบูรณาการการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล.ภาค 2 รวมถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการและตอบสนองให้ทันต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เน้นย้ำภารกิจความสำคัญของ ศรชล. เป็นหน่วยงานบูรณาการที่มีความพร้อมในทุกมิติของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ภายใต้การบูรณาการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล. โดยมีเรือจากกองเรือยุทธการ (เรือหลวงแรด, เรือหลวงราวี) ทัพเรือภาค 2 (เครื่องบินลาดตระเวน 1 เฮลิคอปเตอร์ เรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี (RHIB) พร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษ) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (เรือทรัพยากร 211 เรือตรวจการณ์ 352 เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง) กรมประมง (เรือตรวจประมงทะเล 325) กรมศุลกากร (เรือศุลกากร 607) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่มาร่วมฝึกด้วย จากสถานการณ์ฝึกครั้งนี้สมมติให้เรือท่องเที่ยว VIKER OCEAN เกิดอุบัติเหตุโดนกันกับเรือบรรทุกน้ำมัน Sea Giant มีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลกว่า 200,000 ลิตร โดย ศรชล.ภาค 2 บูรณาการจัดหน่วยเผชิญเหตุตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System หรือ ICS) สั่งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเพื่อส่งกลับสายแพทย์ ตลอดจนการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แก้ไขสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

ศรชล. มุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และการขจัดคราบน้ำมันในทะเลทั้งกระบวนการ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตามมาตรฐานระดับสากล ภายใต้การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง 7 ศร ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกหน่วยที่เข้าร่วมการฝึกได้แสวงประโยชน์จากการฝึก นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเหตุการณ์จริงเพื่อให้เกิดการประสานงาน การบูรณาการเครื่องมือค้นหาและช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”