
คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ร่วมประชุมหารือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO
วันนี้ (21 มิถุนายน 2565) ระหว่างเวลา 09.00 น. – 11.30 น. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 3/2565 โดยมีพลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ รอง ผอ.ศรชล. เป็นประธาน
การประชุม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ได้มีแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก
(Port In Port Out Controlling Center: PIPO) เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) ให้ต่อเนื่องและเป็นมาตรฐาน
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า สำหรับการประชุมมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
เวลา 09.00 น. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย รอง ผอ.ศรชล. เดินทางถึงโรงแรม อวานี พลัส ริเวอร์ ไซด์ กรุงเทพ และเข้าประชุมระดับผู้บริหาร ศรชล. ณ ห้อง sky ชั้น 10
เวลา 09.30 น. คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ชมการบูรณาการจัดนิทรรศการของหน่วยงานหลัก 7 หน่วยงานของ ศรชล.
ณ ห้อง แกรนด์ ริเวอร์ไซด์ บอลรูม ชั้น 10 ซึ่งประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการของ ศูนย์ยุทธการ ศรชล. ทร. เรื่อง ระบบควบคุม
การปฏิบัติและติดตามสถานการณ์ทางทะเล แบบบูรณาการ (C2 System) กรมเจ้าท่า เรื่อง การปฏิบัติงานในอดีตและภารกิจการกระจัดคราบน้ำมันในทะเล (Oil spill) กรมประมง เรื่อง การปฏิบัติงานในศูนย์ PIPO และผลการปฏิบัติงานทางทะเล กรมศุลกากร เรื่อง สถิติผลการจับกุมการปฏิบัติงานด้านศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง มหันตภัยขยะพลาสติก กองบังคับการตำรวจน้ำ เรื่อง การปฏิบัติงานประจำปี และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การคุ้มครองแรงงานภาคทะเล
เวลา 10.00 น. การประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 3/2565 มีสาระการประชุมที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
- คณะกรรมการบริหาร ศรชล. พิจารณาให้ ศรชล. ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (MCS) ใน 2 ประเด็น ดังนี้
- เพิ่มอัตรากำลังพลในศูนย์ PIPO โดยเพิ่มเติมกำลังพลจาก ศรชล. และตำรวจน้ำ
- เพิ่มชุดตรวจประเมินศูนย์ PIPO (ชุด FIT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์PIPO
- คณะกรรมการบริหาร ศรชล. รับทราบการจัดทำหลักสูตรการคุ้มครองแรงงานและปราบปรามการค้ามนุษย์ทางทะเลของ ศรชล. และกำหนดการฝึกที่สำคัญของ ศรชล. จำนวน ๔ ครั้ง ดังนี้
- การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี ๒๕๖๕ บูรณาการการฝึกกับกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๕ ในหัวข้อการฝึกการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และ การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล เพื่อนำเสนอระบบกลไกลการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกมาใหม่ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๖๕ ทั้งนี้ได้ดำเนินการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อ ๑๖ มิ.ย.๖๕ บริเวณเกาะเสม็ด จว.ระยอง ที่ผ่านมา
- การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. บูรณาการกับการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ (CMEX 2022) ในหัวข้อเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และการฝึกตรวจค้นการลักลอบขนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(WMD) ซึ่งจะจัดขึ้นในห้วงเดือน กรกฎาคม ๒๕๖๕
- การฝึกผสม SOUTHEAST ASIA COOPERATION AND TRAINING 2022 (SEACAT2022) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในทะเล ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นในห้วงเดือน สิงหาคม ๒๕๖๕
- การฝึก Passenger Ship Training เป็นการฝึกค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสารที่ประสบภัยทางทะเล โดยในปีนี้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ขอให้ ศรชล. เป็นแกนกลางในการจัดการฝึก ซึ่งจะจัดขึ้นในห้วงเดือน กันยายน ๒๕๖๕
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”