
ก้าวสู่ปีที่ 5 ศรชล.ปลุกพลังนิวเจนฯ 22 จว.ทั่วไทยร่วมใจเคลียร์ทะเลคืนน้ำใส-ไร้ขยะ

วันนี้ (9 มี.ค.66) เป็นวันคล้ายวันสถาปนาศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ครบรอบปีที่ 4 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. มอบหมายให้ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. เป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานวันคล้ายวันสถาปนา ศรชล. ประจำปี 2566 ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
ศรชล. เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเป็นหน่วยราชการในรูปแบบเฉพาะมีลักษณะเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานจาก 7 หน่วยงานหลัก คือ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตํารวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อํานวยการ ศรชล. ได้ประกาศให้วันที่ 9 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนา ศรชล. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในการตราพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ผู้อำนวยการ ศรชล. ได้มีบัญชาสั่งการเน้นย้ำถึงข้าราชการ ศรชล.ทุกนายระลึกถึงความสำคัญของวันคล้ายวันสถาปนา ศรชล. และเกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หลอมรวมจิตใจของข้าราชการภายในหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบปีที่ 4 ศรชล. จึงได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง โดยมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกลุ่มเด็ก/เยาวชน/คนรุ่นใหม่ระดับมัธยมศึกษา-อุดมศึกษา ผ่านกิจกรรม “ทะเลปลอดขยะ (searo waste)” ภายใต้กลไกการขับเคลื่อนร่วมกันของ ศรชล.ภาค 1 ศรชล.ภาค 2 และ ศรชล.ภาค 3 ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัดชายทะเล จังหวัดละ 200 คน รวมมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 4,400 คน ประกอบด้วย จังหวัดทางฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด และฝั่งอ่าวไทย 16 จังหวัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมร่วมกันในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเก็บขยะชายหาด การเก็บขยะใต้ทะเล การปลูกปะการัง การปลูกป่าโกงกาง การปลูกป่าชายเลน การปล่อยปลา รวมทั้งการปล่อยเต่าทะเล เป็นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างจิตสำนึกที่ดีและถูกต้องในวิถีชีวิตประจำวันของเด็ก/เยาวชนริมชายทะเลทั่วประเทศ และเชื่อมโยงเข้าถึงฐานรากของท้องถิ่น เด็ก พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน ให้ได้รับรู้ถึง “หน้าที่ร่วม” ของทุกคนในการอนุรักษ์ท้องทะเลและสร้างเครือข่ายชุมชนรักษ์ทะเลไทยที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป


จากก้าวแรกที่ผ่านความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ด้วยการทำหน้าที่ของ “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)” ที่พาการประมงของไทยผ่านพ้นวิกฤต และสามารถยกระดับสู่ ศรชล. ในปัจจุบัน
ภายใต้ภารกิจหลักในการป้องกันภัย 9 ด้าน ของ ศรชล. ประกอบด้วย 1.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2.การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 3.การทำประมงผิดกฎหมาย 4.การค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมืองทางทะเล 5.การลักลอบขนยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมายและอาวุธสงครามทางทะเล 6.การลักลอบขนส่งสินค้าสองวัตถุประสงค์ และอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงทางทะเล 7.การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือทะเล 8.การก่อการร้ายทางทะเล 9.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล และเหตุการณ์อื่นๆ
ก้าวสู่ปีที่ 5 ของ ศรชล. ภายใต้การอำนวยการของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท บูรณาการการดำเนินกิจการทางทะเลในทุกๆ ด้านระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานทางทะเล เพื่อให้การปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างต่อเนื่อง โดยมี กองทัพเรือเป็นศูนย์กลาง ในการประสานงาน ช่วยเหลือ และสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ เพื่อความยั่งยืนในการปกป้องท้องทะเลไทยของเราทุกคน

“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”